ประวัติของวัดระบุว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททองในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2332 แต่เดิมเป็นวัดป่า มีสิ่งก่อสร้างคืออุโบสถไม้เก่าและพระประธานองค์เก่าที่เป็นปูนปั้นก่ออิฐถือปูน ฐานชุกชีสูง ศิลปะอยุธยา ซึ่งต่อมาอิฐแดงที่ก่อหมดอายุจึงยุบลง จึงได้บรรจุเอาไว้ใต้ฐานพระประธานโบสถ์อุโบสถในปัจจุบัน วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรกราว พ.ศ. 2409 แต่เดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกงแต่เกิดการกัดเซาะของตลิ่งจึงได้ย้ายที่ตั้งวัดถึงสองครั้ง คือเมื่อ พ.ศ. 2409 และ พ.ศ. 2480 แล้วย้ายมาที่ตั้งปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. 2504
อุโบสถหลังใหม่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2475 โดยมีตระกูลนางส้มลิ้ม สาริกภูติ ร่วมกับหลวงฤทธิ์ณรงค์รอน (หลวงเจ๊ก แสงมณี แห่งคลองบางหลวง) พร้อมด้วยคุณนายพริ้ง คุณนายแจ่ม แสงมณี และศรัทธาญาติโยมทั้งหลายโดยการนำของพระอธิการแสง เจ้าอาวาสในขณะนั้น ทั้งยังหล่อพระประธานองค์ใหม่พร้อมทั้งพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร มีนามว่า หลวงพ่อโต สมปรารถนา ภายหลังได้รับบริจาคที่ดินจำนวน 343 ไร่ ที่ตำบลบึงเทพยา (ตำบลบางน้ำเปรี้ยว) อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ต่อมา ตระกูลของนายเซ้ นางจู ตระกูลโกมลภิส ได้ถวายที่ดินชายแม่น้ำทางด้านฝั่งซ้ายของวัดเพิ่มเติม เมื่อสร้างอุโบสถ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดคือท้าวเวสสุวรรณ 2 องค์ องค์ซ้ายมีนามว่า ท้าวรุ่งเรือง มีผิวกายสีม่วง องค์ขวามีนามว่า ท้าวร่ำรวย มีกายสีแดง ผู้ที่มามักจะขอเรื่องค้าขาย ขอให้ร่ำรวย และมักจะแก้บนด้วยการจุดประทัด ซึ่งต่อมาการแก้บนด้วยประทัดได้ระงับลงไป เนื่องจากมลภาวะทางเสียงและอากาศ หลวงพ่อช้างเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันจึงเปลี่ยนมาเป็นการแก้บนด้วยข้าวสาร เพื่อนำข้าวสารไปบริจาคให้แก่ผู้ยากไร้และหน่วยงานการกุศลอื่นๆที่ต้องการ ปัจจุบันวัดจุกเฌอมีเจ้าอาวาสคือหลวงพ่อช้าง ซึ่งเป็นผู้สร้างรูปปั้นท้าวเวสสุวรรณอันโด่งดัง[2]