ศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา KCC (Knowledge Center of Chachoengsao) ถือกำเนิดขึ้นด้วยความคิดที่ต้องการให้จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ที่ทันสมัย ได้มาตรฐานและก้าวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของชาติอย่างมั่นคง โดยการสนับสนุนจากนายกลยุทธ ฉายแสง นายกเทศมนตรีเมืองฉะเชิงเทรา โดยให้ความสำคัญในด้านการพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ การศึกษาเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า เด็ก เยาวชน และประชาชนทุกคนต้องได้รับโอกาสที่จะพัฒนาตนเองสู่ความเป็นเลิศอย่างเท่าเทียม ทั้งในด้านของการสร้างทักษะชีวิต และมีความพร้อมที่จะพัฒนาสังคม จึงเกิดศูนย์ฯ ขึ้น เพื่อเป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้คู่จินตนาการ ผ่านหนังสือสื่อที่ทันสมัย และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ตลอดจนกิจกรรมสร้างสรรค์ ต่อยอดภูมิปัญญา พัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยบูรณาการองค์ความรู้ต่าง ๆ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับสากล
ลักษณะของตัวอาคารเป็นรูปหนังสือซ้อนกันสี่เล่ม มีช่องทางตรงกลางแบ่งอาคารเป็นสองฝั่ง เปิดให้บริการในส่วนแรกก่อนจำนวนสองชั้น คือชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ชั้นแรกอยู่ติดพื้น มีโซนบริการเครื่องดื่มกาแฟ ติดกันเป็นห้องสมุดเด็ก ฝั่งตรงข้ามเป็นโซนแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเมืองฉะเชิงเทรา ขณะที่บริเวณทางเดินตรงกลางเป็นที่จัดแสดงหรือจัดกิจกรรมที่น่าสนใจ
ชั้นสอง จะเป็นห้องสมุดประชาชน มีบริเวณที่ให้บริการเครืองเล่น iPad ฟรีสำหรับการค้นคว้าทางอินเตอร์เน็ต มีโรงละครเคซีซี สำหรับฉายภาพยนตร์ที่น่าสนใจ สารคดี รวมถึงการแสดงต่างๆ ในส่วนของห้องสมุดมีบริการยืมคืนโดยใช้บัตรสมาชิก แต่หากลืมก็สามารถใช้บัตรประชาชนแทนได้ การยืมสามารถยืมได้ครั้งละ 2 เล่ม ทั้งไทยและอังกฤษ ระยะเวลายืม 7 วัน หากเกินกำหนดปรับวันละ 5 บาท สำหรับหนังสือภาษไทย และปรับ 10 บาทสำหรับหนังสือภาษาอังกฤษ
บัตรสมาชิกมีลักษณะคล้ายบัตรเติมเงิน สามารถเติมเงินเข้าบัตรได้เพื่อใช้บริการในส่วนต่างๆ บัตรสมาชิกนั้นสามารถเติมเงินเพื่อเป็นค่าประกันหนังสือได้ โดยหนังสือภาษาไทย 300 บาท หนังสือภาษาอังกฤษ 500 บาทส่วนวารสารและนิตยสารไม่อนุญาตให้ยืม
มีมุมหนังสือที่ได้รับความนิยม หนังสือใหม่ หนังสือที่ได้รับรางวัลต่าง เพื่อให้ผู้ใช้บริการเห็นอย่างชัดเจน และเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ห้องสมุด KCC ได้จัดโซนของหนังสือ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ ซึ่งในที่นี่เน้นไปที่หนังสือเกี่ยวกับการประกอบอาหาร
ระบบจัดการห้องสมุดของ KCC นั้นใช้ซอฟต์แวร์ของโครงการพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่ชื่อ WALAI AutoLibใช้ระบบการเรียกเลขหนังสือเป็นแบบดิวอี้และใช้สีเพื่อแยกประเภทของหนังสือร่วมด้วย เมื่อผู้ใช้บริการอ่านหนังสือเสร็จ ไม่จำเป็นต้องเก็บ ให้วางไว้ที่เดิม จะมีเจ้าหน้าที่ไปเก็บและคัดแยกเพื่อนำกลับขึ้นชั้นหนังสือเองห้องสมุด KCC ยังมีความร่วมมือกับเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ในจังหวัดต่างๆ อีกหลายแห่งทั่วประเทศ